
Net Zero X ครั้งนี้ ไปเจอการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากที่ที่หนึ่งซึ่งน่าสนใจและขอนำมาแชร์ต่อครับ เกี่ยวกับการเปลี่ยนรูปแบบพลังงานที่ได้จากธรรมชาติอย่างการติดแผงโซลาร์เซลล์ที่เห็นกันอย่างแพร่หลายในแถบยุโรป รอบนี้ที่บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติสวิสเซอร์แลนด์ “Sun-Ways” ได้จดสิทธิบัตรระบบแผงโซลาร์เซลล์แบบถอดออกได้ ซึ่งได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนรางรถไฟครับ
แผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ติดตั้งบนรางรถไฟจะเป็นแบบสีดำสนิท แต่ละแผงมีขนาด 1 x 1.7 เมตร และมีฟิลเตอร์ป้องกันแสงสะท้อนเพื่อป้องกันแสงจ้า ซึ่งผ่านการทดสอบความเสถียรสำหรับรถไฟที่วิ่งผ่านด้วยความเร็วสูงสุด 150 กม./ชม. และสามารถทนต่อลมแรง 240 กม./ชม. ด้วยการใช้ระบบกลไกในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบบถอดออกได้ที่ถือเป็นนวัตกรรมที่สะดวกและทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะรางรถไฟต้องได้รับการบำรุงรักษาเป็นระยะๆ ติดตั้งด้วยรถไฟที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งจะใช้กลไกลูกสูบในการวางแผงโซลาร์เซลล์ขนาดกว้าง 1 เมตร ที่บริษัท Sun-Ways ระบุว่าสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้มากถึง 1,000 ตารางเมตรต่อวัน
และแผงโซลาร์เซลล์นี้มีความทนทานมากกว่าแผงโซลาร์เซลล์แบบทั่วไป และมีตัวกรองป้องกันแสงสะท้อนเพื่อไม่ให้เข้าตาพนักงานขับรถไฟ นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเซนเซอร์ไว้ในแผงโซลาร์เซลล์ช่วยให้แผงโซลาร์เซลล์ทำงานได้อย่างถูกต้อง ขณะที่แปรงที่ติดอยู่ที่ปลายรถไฟสามารถขจัดสิ่งสกปรกออกจากพื้นผิวแผงโซลาร์เซลล์ได้ และในขณะนี้บริษัทกำลังพัฒนาระบบละลายน้ำแข็ง เพื่อป้องกันน้ำแข็งและหิมะที่อาจตกใส่แผงโซลาร์เซลล์ในฤดูหนาว

บริษัท Sun-Ways ใช้เวลากว่า 10 เดือนในการสร้างและทดสอบต้นแบบการใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนกระทั่งได้รับใบอนุญาตในที่สุด โดยจะเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้กับเส้นทางรถไฟในเมืองเนอชาแตล ที่อยู่ทางตะวันตกของสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงการทดสอบ 3 ปี ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2025 โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 48 แผงบนรางยาว 100 เมตร มีกำลังการผลิต 18 kWp และดำเนินการติดตั้งโดย transN บริษัทขนส่งสาธารณะของรัฐ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 585,000 ฟรังก์สวิส หรือราว 22,559,582 บาท
สำหรับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกป้อนเข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้า และนำไปใช้จ่ายไฟให้โครงสร้างพื้นฐานใกล้เคียง เช่น สวิตช์หรือจุดต่าง ๆ หรือแม้แต่สถานี แต่ไม่ได้นำมาใช้กับการดำเนินการรถไฟ เนื่องจากใช้คนละระบบ และการจ่ายไฟให้รถไฟมีกระบวนการที่ซับซ้อนกว่า
ทาง Sun-Ways ประมาณการแผงโซลาร์เซลล์บนทางรถไฟนี้จะสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้หนึ่งเทระวัตต์ชั่วโมง (TWh) ต่อปี หรือเทียบเท่ากับประมาณ 2% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในสวิตเซอร์แลนด์ โดยทางบริษัทหวังว่าในอนาคตจะสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ทั่วประเทศ ที่มีความยาวถึง 5,317 กิโลเมตร
การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในแนวทางหลักของกลยุทธ์เน็ตซีโรของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ต้องการให้มีไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลม 45 เทระวัตต์ชั่วโมงต่อปีภายในปี 2050 เพิ่มขึ้น 7 เท่าจากปี 2023 และนอกจากโครงการที่สวิตเซอร์แลนด์แล้ว ทางบริษัทยังมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ที่คล้ายกันในอีกหลายประเทศ เช่น สเปน, โรมาเนีย, เกาหลีใต้ ขณะเดียวกันก็กำลังหารือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพในจีน ไทย ออสเตรเลีย และสหรัฐเพื่อหาทางเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟ

เป็นโครงการที่น่าจับตามองครับว่าศักยภาพและคุณภาพของนวัตกรรมนี้จะเป็นไปอย่างไร และใช้งานในระยะยาวได้อีกมากแค่ไหน แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อหาหนทางพัฒนาการขนส่งแบบ Green Transportation ครับ
ขอขอบคุณข้อมูล
และรูปประกอบจาก https://newatlas.com