top of page
Writer's pictureInnovatorX

พาไปรู้จักกับ 4 โรงพยาบาลอัฉริยะในไทย! (Smart Hospital)



โรงพยาบาลอัจฉริยะคืออะไร?


คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับโรงพยาบาล สนับสนุนการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์  สามารถประหยัดเวลา ลดขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วและแม่นยำปลอดภัย รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้บุคลากรของโรงพยาบาล


สำหรับโรงพยาบาลอัจฉริยะในประเทศไทยเองก็มีเช่นกัน วันนี้ Well-beingX by InnovatorX จะพาไปรู้จักกับ 4 โรงพยาบาลอัจฉริยะที่น่าสนใจในไทยกันครับ ว่าแต่ละโรงพยาบาลเหล่านี้ มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยและเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการแพทย์ได้อย่างไร


🔴 โรงพยาบาลศิริราช (Siriraj Piyamaharajkarun Hospital)


โรงพยาบาลได้ออกแบบการให้บริการด้วยการใช้ Disruptive เทคโนโลยีมาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยและบุคลากร เช่น


  • โครงการ Smart EMS  (Emergency Medicine Service) : เปลี่ยนรถพยาบาลธรรมดาให้เป็น Smart Ambulance โดยใช้ระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะเข้ามาช่วยให้แพทย์รักษาได้เร็วขึ้น เช่น อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ เป็นต้น


  • ระบบห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ (Smart Emergency Room) : นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยประเมินสัญญาณชีพคนไข้ที่ผิดปกติ ทำให้พยาบาลจัดลำดับการดูแลผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที และยังสามารถติดตามการรักษาได้จากบ้าน


  • ระบบการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Pathological diagnosis system) : ใช้ AI เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการอ่านผลวินิจฉัยการตรวจชิ้นเนื้อเบื้องต้นในโครงการมะเร็งต่อมลูกหมาก ทำให้อ่านผลชิ้นเนื้อได้เร็วและแม่นยำขึ้น


  • ระบบผู้ช่วยการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพรายบุคคล สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (5G AI Platform for NCD) : แอปพลิเคชัน ‘Healthy Buddy’ บันทึกข้อมูลอาหารช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานบริโภคอาหารได้สัดส่วน บันทึกผลความดันและน้ำตาลในเลือด มีระบบเตือนให้กินยา เป็นต้น


  • ระบบขนส่ง ยาและเวชภัณฑ์ด้วยรถไร้คนขับ (Smart Logistic with 5G Self-Driving car) : เพิ่มผลิตภาพในระบบการขนส่งและลดต้นทุนได้ในระยะยาวและใช้ AI เข้ามาพยากรณ์การใช้ปริมาณการจัดยาและเวชภัณฑ์ในแต่ละสัปดาห์


  • ระบบเวชระเบียนกลางด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Permission based block chain for personal health record) : เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ป่วยเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรักษา นำร่องที่ 3 โรงพยาบาล คือ รพ.ศิริราช, ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก


🔴 โรงพยาบาลวิมุต (ViMUT Hospital)


นำเทคโนโลยี AI มาคัดกรองอาการบนแอปพลิเคชัน Agnos และพัฒนาให้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบของ Line Official เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้งานทุกกลุ่มเป้าหมายได้สะดวกยิ่งขึ้น โดย AI จะทำการคัดกรองอาการป่วยออกมาเป็น 3 ระดับ ได้แก่


  • สีเขียว (Self-care) อาการไม่รุนแรง สามารถดูแลและบรรเทาอาการด้วยตนเองได้ หรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์พร้อมบริการจัดส่งยาภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร สะดวก รวดเร็ว เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกมาโรงพยาบาล


  • สีเหลือง (Seek-medical advice) อาการรุนแรงปานกลาง ผู้ป่วยสามารถทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ เพื่อตรวจเพิ่มเติม หรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


  • สีแดง (Emergency care) อาการรุนแรง แนะนำให้ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลวิมุต


หลังจากใช้งาน AI คัดกรองอาการแล้ว ผู้ป่วยสามารถรับบริการทางการแพทย์จากเจ้าหน้าที่แอดมินบน Line official account ของโรงพยาบาลวิมุต ในขั้นต่อไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องซักประวัติใหม่ ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะสามารถให้คำปรึกษาทางการแพทย์ แนะนำบริการการรักษาหรือช่วยทำนัดหมายแพทย์เฉพาะทางให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างตรงจุด เกิดการสื่อสารที่คล่องตัวกว่าการพิมพ์สนทนาให้คำปรึกษาทั่วไป อีกทั้งยังเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง


🔴 โรงพยาบาลราชวิถี (Rajavithi Hospital)


การพัฒนาระบบ Virtual Hospital ซึ่งเป็นระบบปรึกษาการแพทย์ทางไกลผ่าน DMS Telemedicine ที่เชื่อมโยงกับระบบบริการทางการแพทย์เดิม ช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time ผู้ป่วยมีอาการคงที่ ไม่เร่งด่วน ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง สามารถพูดคุยกับหมอผ่านระบบออนไลน์ได้ 


นอกจากนี้ยังมีบริการเจาะเลือดที่บ้านหรือเจาะเลือดใกล้บ้าน บริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ และสำหรับผู้ป่วยในรายที่อาการคงที่สามารถนอนพักรักษาที่บ้านแทนการนอนที่โรงพยาบาล (Home Ward) ได้อีกด้วย ซึ่งผู้รับบริการสามารถเข้าถึงบริการของโรงพยาบาลราชวิถีได้จากทุกที่ ง่าย สะดวกสบาย ประหยัดเวลา เหมือนกับการมารับบริการที่โรงพยาบาล


🔴 โรงพยาบาลกรุงเทพ (Bangkok Hospital)


นวัตกรรม Smart Registration นำร่องใช้ AI เป็นตัวช่วยลงทะเบียนผู้ป่วย ผ่านแอปพลิเคชัน myB+ ที่สามารถนัดหมายแพทย์ ทำนัดตรวจสุขภาพ ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ดูประวัติสุขภาพและข้อมูลยา ใบรับรองแพทย์ สั่งยา ฟังคำแนะนำจากเภสัชกร ชำระเงินและบริการต่าง ๆ ทั้งนี้ยังสามารถเลือกรับยาที่โรงพยาบาลหรือให้ไปส่งถึงบ้านได้อย่างรวดเร็ว พร้อมบริการจัดส่งทั่วประเทศอีกด้วย


เพราะเทรนด์การอยู่อาศัยในอนาคตผู้คนคาดหวังการมีสุขภาพที่ดีขึ้นโดยมีเทคโนโลยีหรือตัวช่วยที่เข้ามาทำให้เกิดสุขภาพดีอย่างง่ายดาย (Healthy Life Expectancy) จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลอัจฉริยะก็มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านการแพทย์ เพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด รวมถึงส่งเสริมการเข้ารับบริการของผู้ป่วยให้สะดวกและรวดเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน


📌 หมายเหตุ ข้อมูลนี้ไม่รวมโครงการที่กำลังก่อสร้างหรือโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ

......................................

📎อ้างอิง

▪️ ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

▪️ ข้อมูลจากโรงพยาบาลวิมุต

▪️ ข้อมูลจากโรงพยาบาลราชวิถี

▪️ ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ

▪️ Experion Design จากชุดข้อมูลการวิจัยแนวโน้มการออกแบบประสบการณ์สำหรับวงการอสังหาริมทรัพย์ ค้นคว้าและวิจัยโดย ศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซปต์แห่งอนาคตบารามีซี่แลป

......................................

📱 สนใจการรีวิวอสังหาริมทรัพย์ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี Well-beingX ติดต่อได้ที่

Inbox Page InnovatorX

หรือ Line OA : @innovatorx 



bottom of page