มหาวิทยาลัย RMIT (Royal Melbourne Institute of Technology) ตั้งอยู่ในเมืองเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย และมีชื่อเสียงในด้านการวิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดเผยผลลัพธ์ของงานวิจัยที่เกี่ยวกับการใช้กากกาแฟที่เหลือทิ้งในการสร้างถนนว่ามีความแข็งแรงทนทานไม่แพ้วัสดุคอนกรีต
ทีมนักวิจัยพบว่า การนำกากกาแฟที่ผ่านการเผามาผสมในคอนกรีต สามารถทำให้คอนกรีตแข็งแรงขึ้นถึง 30% นับว่าเป็นสูตรการผสมแบบใหม่ที่นักวิจัยคิดค้นขึ้น เพื่อหวังว่าจะเป็นอีกหนทางที่ช่วยแก้ปัญหาการกำจัดของเสียจากกากกาแฟ เนื่องจากในทุกๆ ปี ปัจจุบันทั่วโลกมีการบริโภคเพิ่มมากขึ้นและทำให้เกิดเศษขยะประเภทกากกาแฟจำนวนมากกว่าพันล้านกิโลกรัมและส่วนใหญ่จบลงด้วยวิธีกำจัดแบบฝังกลบลงหลุม
ดังนั้นกากกาแฟที่เหลือทิ้งนี้ถ้านำมาปรับใช้ผสมกับคอนกรีตเพื่อลดปริมาณลงแล้วยังช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ลดการใช้วัสดุที่ต้องเผาไหม้อย่างคอนกรีตให้ใช้น้อยลงด้วย
“การกำจัดของเสียอินทรีย์เป็นปัญหาท้าทายทางสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมันปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก รวมถึงมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” Rajeev Roychand วิศวกรจากมหาวิทยาลัย RMIT กล่าว
เพราะความต้องการคอนกรีตยังคงจำเป็นต่อการก่อสร้างทั่วโลกในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และการตอบสนองความต้องการนี้ยังคงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทำให้ทีมนักวิจัยเริ่มค้นคว้าว่าสามารถใช้ขยะเหลือทิ้งเช่นกากกาแฟมาทำอะไรได้บ้าง กระทั่งค้นพบว่าหากใช้วิธีการเผากากกาแฟที่อุณหภูมิเกิน 350°C หรือประมาณ 660°F ในสภาวะไร้ออกซิเจน
โดยกระบวนการนี้เรียกว่า Pyrolysis (ไพโรไลซิล) เป็นการทำลายโมเลกุลอินทรีย์ด้วยความร้อนสูงและเปลี่ยนกากกาแฟเป็น Biochar (ไบโอชาร์) ซึ่งมีสภาวะเป็นผงถ่านที่มีรูพรุนและอุดมไปด้วยคาร์บอนที่สามารถรวมตัวเข้ากับโครงสร้างซีเมนต์ได้
แต่ทั้งนี้ นักวิจัยย้ำว่ายังต้องมีการประเมินความทนทานในระยะยาวของคอนกรีตที่ผสม Biochar จากกากกาแฟ พวกเขากำลังทดสอบว่าคอนกรีตนี้สามารถทนต่อสภาวะต่างๆ เช่น การแช่แข็ง, การละลาย, การดูดซับน้ำ, การขัดถูและแรงกดทับจากพาหนะหรือวัตถุอื่นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน พวกเขาคาดว่าคอนกรีตที่ผสมกากกาแฟนี้จะทำให้ช่วยยึดเกาะได้ดีขึ้น และอาจทำให้ปริมาณคอนกรีตที่จําเป็นต้องใช้ในส่วนผสมจริงลดลงได้ 10% จากจำนวนเดิม
“การวิจัยของเราอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ผลการค้นพบที่น่าตื่นเต้นนี้ ก็นำไปสู่การเสนอโอกาสใหม่ในการลดปริมาณของเสียอินทรีย์ที่ถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบ” Shannon Kilmartin-Lynch วิศวกรจากมหาวิทยาลัย RMIT กล่าว
เห็นแบบนี้ ต้องรอติดตามดูว่า การสร้าง Biochar จากการแปลงขยะที่เป็นของเสียอินทรีย์อื่นๆ เช่น เศษอาหารหรือของเสียจากการเกษตร จะสามารถเอามาทำเป็นอะไรได้อีกบ้าง
ขอขอบคุณข้อมูล
และรูปประกอบจาก