top of page
Writer's pictureInnovatorX

กลิ่นอายประวัติศาสตร์สถาปัตย์ฯ ที่ผสานเข้ากับกีฬา และกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม (History Iconic Architecture in Paris Olympic 2024)



มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ โอลิมปิก 2024 ที่มหานครปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับพิธีเปิด และการจัดการแข่งขันกีฬาต่างๆ ก็มีทั้งกลุ่มที่ชื่นชม และกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ แต่สำหรับกลุ่มที่ชื่นชอบในงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบ และประวัติศาสตร์ ...กีฬาโอลิมปิก 2024 เป็นงานที่มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ให้ชวนขบคิดถึงไอเดียที่แปลกใหม่อยู่ไม่น้อย


ในยุคอดีตประเทศที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกก็มักจะทุ่มทุนมหาศาล กับการสร้าง Iconic Venue/Stadium ขึ้นมาใหม่ อย่างยิ่งใหญ่อลังการ และทันสมัย เพื่อสร้างความจดจำ แสดงถึงความก้าวหน้าของประเทศเจ้าภาพ


ในมุมดีๆ ก็มีเยอะกับการทุ่มทุนมหาศาล แต่มุมที่ไม่ดีก็มีอยู่ไม่น้อย ปัญหาใหญ่ที่ตามมาหลังจบงาน คือ บางประเทศไม่มีงบดูแลรักษา และซ่อมบำรุง จนทำให้สนามกีฬา หรือ อาคารสถานที่ต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันถูกทิ้งร้าง หรือ ปล่อยให้ทรุดโทรม โดยไม่มีการใช้ประโยช์ใดๆ ต่อ จนทำให้บางประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพเป็นหนี้มหาศาลจากการทุ่มทุนจัดงาน เช่น กรีซ และบราซิล


นั่นจึงทำให้การจัดโอลิมปิก หลังปี 2012 ที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นเจ้าภาพ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการปรับกลยุทธ์ในการจัดงานใหม่ เพื่อลดการใช้งบประมาณมหาศาลโดยไม่จำเป็น และให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


จากเดิมที่จะต้องเน้นสร้างสนามกีฬาขึ้นมาใหม่ ก็หันมาใช้รูปแบบการก่อสร้างสนามกีฬาแบบ Modular ที่ทำมาจากวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และปรับลดขนาดหลังจบการแข่งขัน จัดการได้ง่าย หรือ สามารถรื้อถอนนำไปประกอบใหม่ในที่อื่นๆ ได้ตามความเหมาะสม เป็นการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable/Low Carbon) ทั้งในด้านการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ลดการใช้พลังงาน และการสร้างขยะ


รวมไปถึงแนวคิดการนำสถาปัตยกรรมของเมืองที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ (Historical Iconic Architecture) นำมาปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสนามกีฬาชั่วคราวในรูปแบบที่แปลกตา โดยให้ความรู้สึกผสมผสานเสมือนกับการได้มาท่องเที่ยวและดูกีฬาไปพร้อมๆ กันได้อีกด้วย โอลิมปิก 2024


ฝรั่งเศส จึงคลอดกลยุทธ์ “Sport Beyonds Stadiums & Arenas” ขึ้นมา ซึ่งเราจะพาไปดูกันว่า Historical Venue ที่น่าสนใจจะมีที่ไหนกันบ้าง และมีที่มาที่ไปอย่าง (คัดมาเฉพาะที่เด่นๆ และสำคัญ)



Eiffel Tower Stadium


ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬา :

  • วอลเลย์บอลชายหาด


หอไอเฟล สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของงานแสดงสินค้าโลกใน ค.ศ. 1889 แม้ในช่วงแรกจะได้รับการวิจารณ์จากศิลปินและสถาปนิกชั้นนำของประเทศในด้านการออกแบบ


แต่ในเวลาต่อมาหอไอเฟลได้กลายเป็นสัญลักษณ์แสดงความยิ่งใหญ่ของประเทศความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ความสวยทางศิลปะและสถาปัตยกรรม ในปัจจุบันหอไอเฟลมีอายุ 135 ปีแล้ว


Grand Palais


ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬา :

  • เทควันโด

  • ฟันดาบ


กร็องปาแล เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของกรุงปารีส เพื่อใช้สำหรับจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ ในปี ค.ศ. 1900 ตัวอาคารมีลักษณะแบบสถาปัตยกรรมโบซาร์ มีลักษณะเด่น คือ รายละเอียดโดยรอบบนหน้าบันที่สลักจากหิน และการออกแบบพื้นที่ใช้สอยที่มีความทันสมัยเป็นอย่างมากในยุคนั้น


และใช้นวัตกรรมใหม่ในการก่อสร้าง อาทิเช่น โครงหลังคาเหล็กประดับกระจก และการใช้คอนกรีตเสริมแรงในการก่อสร้างในปัจจุบันกร็องปาแล มีอายุ 124 ปีแล้ว



Palace of Versailles


ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬา :

  • ขี่ม้า


พระราชวังแวร์ซายส์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปารีส แต่เดิมเคยใช้เป็นที่พักล่าสัตว์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ในปี ค.ศ. 1624 ได้รับการขยายและพัฒนาครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งต้องการให้พระราชวังแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความมั่งคั่งของราชวงศ์ฝรั่งเศสในขณะนั้น


สำหรับพื้นที่สวนของพระราชวังได้รับการออกแบบโดย André Le Nôtre ในปี ค.ศ. 1661 โดยมีเอกลักษณ์ที่สำคัญ คือ มีความสมมาตร เป็นระเบียบเรียบร้อย ใช้รูปทรงเรขาคณิตที่ตรงไปตรงมา รวมถึงการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ อย่างประณีต ตามแบบฉบับฝรั่งเศส ในปัจจุบันพระราชวังแวร์ซายส์ และพื้นที่สวน มีอายุเกือบ 400 ปี



Place de la Concorde


ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬา :

  • บาสเกตบอล 3×3

  • เบรกแดนซ์

  • จักรยาน BMX

  • สเกตบอร์ด


ปลัส เดอ ลากงกอร์ด เดิมทีสถานที่แห่งนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นที่ตั้งของพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1748 โดยพ่อค้าชาวปารีส ถือเป็นเป็นจัตุรัสขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญมากที่สุดของกรุงปารีส โดยเป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1789


โดยใช้เป็นสถานที่ประหารชีวิตผู้มีชื่อเสียงหลายคน รวมทั้งการสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส และพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต ในปัจจุบัน ปลัส เดอ ลากงกอร์ด มีอายุ 276 ปีแล้ว



Les Invalides


ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬา :

  • ยิงธนู

  • กรีฑา

  • ปั่นจักรยาน


เลแซ็งวาลีด หรือ แต่เดิมเรียกว่า ออแตล เด แซ็งวาลีด (Hôtel national des Invalide) เป็นหมู่อาคารสถาปัตยกรรมบาโรก สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ปี ค.ศ. 1678 เพื่อเป็นสถานพยาบาล และที่พำนักของทหารผ่านศึก นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของศาสนสถาน และสุสานของวีรบุรุษนักการทหารของชาติ อาทิ สุสานของนโปเลียน โบนาปาร์ต

ในยุคนี้เลแซ็งวาลีดถูกปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์การทหารของฝรั่งเศส โดยในปัจจุบันมีอายุ 346 ปีแล้ว



Pont Alexandre-III


ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬา :

  • ปั่นจักรยาน

  • ว่ายน้ำมาราธอน

  • ไตรกีฬา


สะพานปงอาแล็กซ็องดร์-ทรัว เป็นสะพานโค้งพาดผ่านแม่น้ำแซน ที่เชื่อมต่อฝั่งหอไอเฟลกับฝั่งช็องเซลีเซเข้าด้วยกัน ตัวสะพานสร้างช่วง ปี ค.ศ. 1896-1900 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโว โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย ที่ได้ตกลงสัญญาพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศส และรัสเซีย


สะพานนี้ถือเป็นความสำเร็จทางวิศวกรรมแห่งยุคศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างยิ่ง โดยการสร้างสะพานโค้งแบบไม่มีเสา ตัวสะพานสูง 6 เมตร ทำจากเหล็กกล้า ออกแบบโดยโฌแซ็ฟ กาเซียง-แบร์นาร์ และกัสตง กูแซ็ง โดยมีข้อแม้ว่าห้ามบดบัง ทัศนียภาพของช็องเซลีเซ และเลแซ็งวาลีดโดยเด็ดขาด ในปัจจุบันตัวสะพานปงอาแล็กซ็องดร์-ทรัว มีอายุ 124 ปีแล้ว


 

อ้างอิง


แปลและเรียบเรียงโดย

© InnovatorX

Comments


bottom of page