Net Zero X คิดว่าถ้าในอนาคตมีนวัตกรรมวัสดุลดคาร์บอนได้เยอะมากเท่าไหร่ วงการก่อสร้างของไทยน่าจะมีการปรับตัวและมีส่วนร่วมช่วยให้โลกนี้ดีขึ้นอีกมากเลยครับ
และในวันนี้มีวัสดุตัวหนึ่งที่เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกจนทำให้เกิดโลกร้อนก็คือ ปูนซีเมนต์ ที่เป็นวัสดุก่อสร้างพื้นฐานและอยู่ในทุกประเภทอาคารเสมอ ทำให้บริษัทผู้ผลิตต้องคิดหานวัตกรรมใหม่หรือกระบวนการผลิตที่จะช่วยลดคาร์บอนเพื่อตอบรับกับนโยบาย Net Zero ในอีกไม่กี่ปี
แล้วปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic Cement) คืออะไร?
เมื่อทางสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยได้มีการรณรงค์ให้ภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนหันมาใช้ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” แทนการใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์หรือปูนทั่วไปที่ใช้งานก่อสร้างเป็นหลัก ความต่างอยู่ที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์จะมีองค์ประกอบหลักเป็นปูนเม็ดประมาณ 93% และปูนเม็ดนี้ได้มาจากการระเบิดภูเขาแล้วใช้วิธีการเผาที่อุณหภูมิ 1,400-2,000 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล
แต่ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีจุดเด่นคือ สามารถทดแทนปูนเม็ดด้วยวัสดุอื่นๆ แทนการระเบิดภูเขาเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบนั้น นั่นคือการใช้ยิปซั่ม, เถ้าลอยหรือตะกรันเหล็ก ที่เป็นกากจากอุตสาหกรรม
สมมติว่าใช้ตะกรันเหล็ก อัตราส่วนประมาณ 10% เข้าไปแทนปูนเม็ด สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 0.052 ตันคาร์บอนต่อปูน 1 ตัน แม้จะดูเป็นการปล่อยคาร์บอนที่ลดไม่เยอะมากขนาดนั้น แต่ในการก่อสร้างที่ต้องใช้ปริมาณปูนปริมาณมหาศาล ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจึงช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มาก
ทำให้ปัจจุบันทางภาครัฐได้สนับสนุนการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกอย่างเต็มที่ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนด ปรับปรุง และแก้ไขมาตรฐานให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ทั้งการใช้งานทั่วไป งานที่ต้องการแรงอัดสูง รวมทั้งงานที่ต้องทนต่อการกัดกร่อน เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานได้จริง
ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจึงถูกวางไว้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือนโยบาย Net Zero ภายในปี 2050
ขอขอบคุณข้อมูล