ใครที่อยู่วงการออกแบบสถาปัตยกรรมและวัสดุอาจเคยได้ยินคำว่า LEED หรือ มาตรฐานลีด มาบ้างใช่ไหมครับ แล้วทราบหรือไม่ครับว่าทำไมใครๆ ต่างอยากประเมินแล้วได้คะแนน LEED สูงๆ เกณฑ์นี้เอาไปใช้ด้านไหน วันนี้ Net Zero X จะมาตอบคำถามนี้ครับ
LEED Certification คืออะไร?
LEED Certification (Leadership in Energy and Environmental Design) เป็นระบบการรับรองอาคารเขียวที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก พัฒนาโดย U.S. Green Building Council (USGBC) ที่ได้ยอมรับในระดับโลกจากสภาอาคารเขียวสหรัฐอเมริกา เป็นระบบการประเมินและรับรองอาคารที่มีประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเกณฑ์คะแนนของ LEED แบ่งเป็น 4 ระดับได้แก่
ระดับผ่านการรับรอง (Certified)
ระดับเงิน (Silver)
ระดับทอง (Gold)
ระดับแพลตตินัม (Platinum)
ตัวอย่างการประเมินของ LEED
- การประหยัดพลังงาน : ลดการใช้พลังงาน เช่น การใช้ไฟฟ้าจากอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในอาคาร
- การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ : มีระบบบำบัดน้ำหรือลดการใช้น้ำในอาคารและภูมิทัศน์ไม่ให้สิ้นเปลืองเกินไป
- การเลือกวัสดุที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง : เลือกใช้วัสดุรีไซเคิล, วัสดุที่ปลอดสารเคมี, วัสดุที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อมุ่งสู่การลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
- การปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น : มีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศและออกแบบการจัดการระบบระบายอากาศที่ดี
- การออกแบบที่เพิ่มพื้นที่สีเขียว : เพื่อให้มีพื้นที่ผ่อนคลายและช่วยให้การเข้าถึงแสงธรรมชาติง่ายขึ้น เพื่อลดการใช้แสงสว่างจากหลอดไฟ หรือการเลือกพื้นที่ก่อสร้างที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ความสำคัญของ LEED ต่อการออกแบบอาคาร
เพราะ LEED เป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับและหากได้รับการรับรองจาก LEED จะแสดงถึงความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการที่มีต่อสังคม และช่วยให้มั่นใจว่าอาคารนั้นๆ มีการก่อสร้างที่คำนึงถึงผู้ใช้งานอาคารอีกด้วย ไม่แค่ใช่รักษ์โลกอย่างเดียว ถ้าสรุปความสำคัญของ LEED จะได้ออกมา 5 เรื่องตามนี้ครับ
1. ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ตรงๆ ตามเกณฑ์ LEED เลย สิ่งนี้ช่วยให้นักออกแบบและผู้พัฒนาโครงการมุ่งมั่นลดการใช้พลังงาน น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ รวมถึงการลด waste จากงานก่อสร้าง จึงส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุโลกร้อน
2. เพิ่มการประหยัดพลังงาน แต่ลดต้นทุน
การออกแบบอาคารที่เป็นไปตามเกณฑ์ LEED จะช่วยให้อาคารใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและค่าน้ำในระยะยาว นอกจากนี้การใช้ระบบแสงสว่างและเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
3. ส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้ใช้อาคาร
อาคารที่ได้รับการรับรอง LEED เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การระบายอากาศที่เหมาะสม ลดการปล่อยสารพิษในอากาศ และเพิ่มแสงธรรมชาติ ซึ่งสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตและผลิตภาพในการทำงานของผู้ที่อยู่ภายในอาคาร
4. ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่ออาคารที่ออกแบบ
ถ้าอาคารไหนได้รับการรับรอง LEED มักมีชื่อเสียงในด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประสิทธิภาพด้านพลังงาน ในมุมของ Branding ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดนี้กระตุ้นให้กลุ่มคนที่ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ หันมาสนใจและเลือกใช้บริการของอาคารนั้นมากขึ้น
5. ตอบสนองต่อนโยบายและข้อกำหนดของรัฐ
ในหลายประเทศและในเมืองใหญ่ๆ มีกฎหมายหรือข้อบังคับที่ส่งเสริมให้อาคารใหม่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์อาคารเขียว เช่น LEED ทำให้การปฏิบัติตามมาตรฐานนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการปฏิบัติตามกฎระเบียบท้องถิ่นและในอนาคตคาดการณ์ว่าเรื่องนี้จะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินสนับสนุนสำหรับอาคารที่ได้รับการรับรองนี้ด้วย เพราะมีเรื่องของ Carbon Tax เข้ามาเกี่ยวข้อง
ขอขอบคุณข้อมูล
และรูปประกอบจาก https://www.usgbc.org