top of page
Writer's pictureInnovatorX

" Cement Generates Light " ซีเมนต์เรืองแสง ที่ถูกพัฒนาให้สามารถดูดซับแสงตอนกลางวัน และฉายรังสีพลังงานแสงในตอนกลางคืนได้



ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนานวัตกรรมวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในงานก่อสร้างมากมาย หนึ่งในนั้นคือการนำเอาพลังงานภายนอก เช่น พลังงานที่ได้จากธรรมชาตินำมาใช้ในการประยุกต์พัฒนาวัสดุในรูปแบบใหม่ๆ จนเกิดเป็นนวัตกรรมวัสดุที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมงานก่อสร้างในอนาคต ดังเช่น ซีเมนต์เรืองแสง (Cement Generates Light) ที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้


ซีเมนต์ (Cement) เป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างที่ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการก่อสร้างมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีความก้าวหน้าในการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง จนซีเมนต์กลายเป็นวัสดุ และองค์ประกอบคุณภาพสูงที่มีความสำคัญต่อการก่อสร้างเกือบทุกรูปแบบ


ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ชาวเม็กซิกัน โฆเซ คาร์ลอส รูบิโอ อวาลอส จึงได้พัฒนา ซีเมนต์เรืองแสง (Cement Generates Light) ที่มีความสามารถในการดูดซับแสงของดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน และปล่อยรังสีพลังงานแสงออกมาในเวลากลางคืน


แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าคอนกรีตนั้นเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติทึบแสง เขาจึงได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของมันให้มีลักษณะเป็นช่องเล็กๆ ที่ถูกเรียกว่าคริสตัล ซึ่งจะทำหน้าที่ในการดูดรับแสงนั่นเอง


ซีเมนต์เรืองแสงถูกคิดค้นขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์สูงสุดก็เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างตึกต่าง ๆ ได้ในอนาคตเพื่อช่วยลดการใช้ไฟฟ้า เพราะหากทำได้ก็จะเป็นการดึงเอาแสงจากธรรมชาติมาใช้งาน และคาดว่าจะถูกนำไปปรับใช้ในการตกแต่ง หรือ งานก่อสร้างที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในงานสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น การตกแต่งสระว่ายน้ำ ห้องน้ำ ห้องครัว ลานจอดรถ ฯลฯ



นอกจากนี้ยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อประโยชน์ทางด้านความปลอดภัยทางถนน สัญลักษณ์การจราจร ไปจนถึงภาคส่วนพลังงาน เช่น แท่นขุดเจาะน้ำมัน และสถานที่ที่ต้องการใช้แสงสว่าง หรือทำเครื่องหมายสัญลักษณ์ยามค่ำคืนในพื้นที่ซึ่งไฟฟ้าอาจจะเข้าไม่ถึง เนื่องจากซีเมนต์เรืองแสงไม่ต้องใช้ระบบไฟฟ้า โดยอาศัยเพียงการเติมพลังงานด้วยแสงจากธรรมชาติในตอนกลางวันเท่านั้น


ซีเมนต์เรืองแสง (Cement Generates Light) นี้อาจจะมีอายุการใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 100 ปี และนักวิทยาศาสตร์ก็วางแผนที่จะผลิตสีใหม่ๆ เช่น สีขาว แดง และม่วง เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการนำไปใช้งานในรูปแบบต่างๆ ถือเป็นอีกนวัตกรรมทางด้านวัสดุ ที่มีความน่าสนใจ และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อยอดได้อีกในอนาคต


 

อ้างอิง


 

ติดต่อลงโฆษณา หรือ ติดต่องานได้ที่

Line OA : @innovatorx

33 views
bottom of page